เงินเฟ้อ เงินฝืด

ภาวะเงินเฟ้อ การว่างงาน

ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation)

ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) เป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไป (General Price Level) หมายถึง ระดับราคาโดยเฉลี่ยของสินค้าและบริการประเภทต่างๆ ในภาวะเงินเฟ้อราคาสินค้าบางชนิดเท่านั้นที่มีราคาสูงขึ้นมากจนทำให้ระดับราคาสินค้ารวมสูงขึ้นมิได้หมายถึงราคาสินค้าทุกชนิดในระบบเศรษฐกิจต้องสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อแสดงโดยดัชนีราคา (Price Index)

ดัชนีราคา (Price Index)

ดัชนีราคา (Price Index) คือ เครื่องวัดราคาเฉลี่ยของสินค้าและบริการจำนวนหนึ่งของปีใดปีหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคาเฉลี่ยของสินค้าและบริการในปีฐาน (Base year) ซึ่งหมายถึง ปีที่ภาวะเศรษฐกิจเป็นปกติ ไม่เกิดภาวะเงินเฟ้อ หรือการว่างงานในอัตราสูง พฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ ดำเนินไปอย่างปกติ ดัชนีราคาจะขึ้นอยู่กับระดับราคาเฉลี่ยแต่มิได้ถึงคุณภาพของสินค้าและบริการ

ประเภทของดัชนีราคา

ดัชนีราคาที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค  ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาขายส่ง

          ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) เป็นเครื่องวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาขายปลีกของสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อเพื่อการบริโภค ณ ราคาตลาดในปีใดปีหนึ่ง ในจำนวนและคุณภาพที่คงที่ เปรียบเทียบกับปีฐานซึ่งเท่ากับหนึ่งร้อย

ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) เป็นเครื่องวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ ผู้ผลิตผลิตออกมาจำหน่าย ณ แหล่งผลิตในปีใดปีหนึ่ง เปรียบเทียบกับราคาสินค้าชนิดและจำนวนเดียวกันในปีฐานซึ่งเท่ากับหนึ่งร้อย

ดัชนีราคาขายส่ง (Wholesale Price Index) เป็นเครื่องวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาขายส่งสินค้า ณ ร้านค้าส่งและตัวแทนจำหน่ายในปีใดปีหนึ่ง เปรียบเทียบกับราคาสินค้าชนิดเดียวกันในปีฐานซึ่งเท่ากับหนึ่งร้อย

สาเหตุการเกิดภาวะเงินเฟ้อ

ภาวะเงินเฟ้อสามารถเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ ดังนี้

ภาวะเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (Demand Pull Inflation) เป็นภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเนื่องจากอุปสงค์รวมเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอุปทานรวมของสินค้าและบริการ เพราะระบบเศรษฐกิจได้นำปัจจัยการผลิตที่ประเทศมีอยู่มาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการจนเต็มที่ จึงไม่สามารถขยายการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอีกได้โดยเฉพาะในระยะสั้น ดังนั้น เมื่ออุปสงค์รวมเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยที่สินค้ามีอยู่จำกัดก็จะส่งผลทำให้ระดับราคาเพิ่มสูงขึ้น และตราบที่อุปสงค์รวมยังคงเพิ่มขึ้น ระดับราคาจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนเกิดภาวะเงินเฟ้อ

ภาวะเงินเฟ้อด้านต้นทุน (Cost Push Inflation) เป็นภาวะเงินเฟ้อที่มีสาเหตุมาจากทางด้านอุปทานหรือต้นทุน เกิดขึ้นเนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัยเช่น อัตราภาษีการค้าหรืออัตราภาษีสินค้าเข้าสูงขึ้น เป็นต้น และบางครั้งเนื่องจากอุปสงค์มวลรวมของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ผลิตสินค้าเร่งการผลิต เกิดการแย่งทรัพยากรเพื่อใช้ในการผลิต ผู้ผลิตจึงต้องเสนอขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้นเนื่องจากได้บวกต้นทุนที่สูงขึ้นเข้าไปในราคาขาย ดังนั้น ราคาขายสินค้าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา

ผลกระทบของเงินเฟ้อ

เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นในระบบ ระบบเศรษฐกิจย่อมเกิดผลกระทบต่างๆ ดังนี้

อำนาจซื้อของเงิน เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ ระดับราคาสินค้าจะสูงขึ้น อำนาจซื้อของเงินแต่ละหน่วยลดลง ประชาชนจึงรีบใช้จ่ายเงินในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ส่งผลทำให้อุปสงค์รวมเพิ่มขึ้นและทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นไปอีก

-2-

การออมและการลงทุน ในระยะที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ ประชาชนมักจะรีบเร่งใช้จ่ายเงิน ส่งผลให้เงินออมและการลงทุนของประเทศลดลงด้วย

การกระจายรายได้ เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อจะทำเกิดการเปลี่ยนแปลงในการกระจายรายได้ บุคคลกลุ่มที่มีฐานะดีและอำนาจการต่อรองสูงจะได้รับประโยชน์ ในขณะที่บุคคลกลุ่มที่มีฐานะยากจนและขาดอำนาจการต่อรองต้องเสียประโยชน์ ผลของภาวะเงินเฟ้อจึงทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้นและคนจนยิ่งจนมากขึ้น

การค้าต่างประเทศ ภาวะเงินเฟ้อก่อให้เกิดผลกระทบแก่การส่งออกและการนำเข้า ด้านการส่งออก  ปริมาณการส่งออกจะลดลงเนื่องจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นทำให้ส่งออกไปได้น้อยลง ด้านการนำเข้าการที่ราคาสินค้าในประเทศสูงขึ้นกระตุ้นให้มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น

การเมือง การที่ระดับราคาสูงขึ้นจะมีผลทำให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้น บุคคลจึงพยายามที่จะปรับปรุงรายได้ให้สูงขึ้น การกระจายรายได้ยิ่งเหลื่อมล้ำคนที่มีรายได้น้อยยิ่งจนลง ถ้ารัฐบาลไม่สามารถลดภาวะเงินเฟ้อเพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับราคาได้แล้ว จะเกิดความไม่พอใจในประสิทธิภาพการทำงานส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้

การแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

ทำได้โดยใช้นโยบายการเงินและนโยบายคลังซึ่งเป็นนโยบายหลักในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ดังนี้

ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลางอาจใช้มาตรการทางการเงินเพื่อลดปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น การใช้จ่ายรวมและการลงทุนของประเทศลดลง หรืออาจใช้วิธีควบคุมการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะจูงใจให้ประชาชนลดการบริโภคและเพิ่มการออม ทำให้อุปสงค์รวมลดลง

ด้านนโยบายการคลัง รัฐบาลจะลดการใช้จ่ายโดยเฉพาะรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพิ่มอัตราภาษีเงินได้  เพื่อให้รายได้ที่พ้นจากภาษีเพิ่มขึ้นจะเป็นการดึงเงินจากระบบเศรษฐกิจมาเก็บไว้ การบริโภคของประชาชนจะลดลง ในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้องบประมาณฯ ควรเป็นแบบขาดดุลน้อยลงหรือเกินดุลมากขึ้น

การว่างงาน (Unemployment)

การว่างงาน (Unemployment) หมายถึง ภาวการณ์ที่บุคคลในวัยแรงงานที่พร้อมจะทำงานแต่ไม่สามารถหางานทำได้ หรือเจ็บป่วย รองานใหม่ หางานที่เหมาะสมไม่ได้ บุคคลในวัยแรงงานจะพิจารณาผู้ที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป ส่วนแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในวัยแรงงาน ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา นักบวช ผู้ที่เกษียณอายุ ผู้เจ็บป่วยพิการทางร่างกายและสติปัญญา และผู้ทำงานอยู่ในครัวเรือน ซึ่งขนาดของบุคคลในวัยแรงงานเล็กกว่าขนาดของประชากรของประเทศ (Total Population) เพราะประชากรของประเทศประกอบด้วยเด็ก ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวัยแรงงาน และผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน

ประเภทของการว่างงาน 

การว่างงานแบ่งออกได้ 5 ประเภท คือ

การว่างงานชั่วคราว (Frictional Unemployment) เป็นการว่างงานในระยะสั้น สาเหตุมาจากความไม่สมบูรณ์ของตลาดแรงงานในด้านต่างๆ เช่น ข้อมูล การคมนาคม เป็นต้น

การว่างงานตามฤดูกาล (Seasonal Unemployment) เป็นการว่างงานที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลพบส่วนใหญ่ในภาคเกษตรกรรม ส่วนสาขาการผลิตอื่นๆ ที่เกิดการว่างงานประเภทนี้เช่น ภาคก่อสร้าง เป็นต้น

การว่างงานเนื่องจากโครงสร้างของเศรษฐกิจ (Structural Unemployment) การว่างงานประเภทนี้เกิดจากการที่แรงงานไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้เช่น เทคโนโลยีการผลิต การย้ายแหล่งอุตสาหกรรม เป็นต้น

การว่างงานเนื่องจากวัฐจักรเศรษฐกิจ (Cyclical Unemployment) เป็นการว่างงานที่เกิดจาก เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งสินค้าขายไม่ออก ผู้ผลิตต้องลดการผลิตและการจ้างงานตามมา

การว่างงานแฝง (Disguised Unemployment) เกิดจากการที่มีจำนวนแรงงานเกินความจำเป็น ส่วนใหญ่พบในภาคเกษตรกรรม บุคคลที่ว่างงานแฝงจะทำงานต่ำกว่าระดับ (Underemployment)

-3-

ประโยชน์ของตัวเลขการว่างงาน

ตัวเลขอัตราการว่างงานของประเทศใช้ประโยชนสำคัญด้านต่างๆ ดังนี้

เป็นเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานในประเทศจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถบอกภาวะเศรษฐกิจได้เช่น ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราการว่างงานค่อนข้างสูง ในช่วงภาวะเศรษฐกิจขยายตัว อัตราการว่างงานจะลดลง อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง การจ้างงานขยายตัวมากจนถึงระดับการจ้างงานเต็มที่ (full employment) อัตราการว่างงานก็ยังมีค่ามากกว่าศูนย์ เรียกอัตราการว่างงาน ณ ระดับการจ้างงานเต็มที่ว่า อัตราการว่างงานตามธรรมชาติ (The Natural Rate of Unemployment) หรืออัตราการว่างงานที่เป็นเป้าหมาย (The Target Rate of Unemployment) จะถือว่า  การว่างงานดังกล่าวไม่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ

เป็นเครื่องชี้อัตราการว่างงานในประเทศ ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนแก้ปัญหาโดยการดำเนินนโยบายสร้างงานให้แก่แรงงานของประเทศเพื่อให้มีรายได้ใช้ในการบริโภค และประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากแรงงานได้อย่างเต็มที่ เกิดผลดีแก่เศรษฐกิจของแรงงานและของประเทศ

เป็นเครื่องชี้การจัดทำงบประมาณการจ่ายเงินชดเชยการว่างงาน ในประเทศที่มีระบบประกันสังคม มีกองทุนจ่ายเงินทดแทนการว่างงาน กองทุนจะต้องจัดทำงบประมาณรายจ่ายเงินทดแทนการว่างงานซึ่งต้องอาศัยตัวเลขอัตราว่างงาน

การแก้ไขปัญหาการว่างงาน

การว่างงานมีสาเหตุต่างๆ ซึ่งทำให้สังคมต้องเสียผลประโยชน์จากทรัพยากรแรงงานที่รัฐบาลลงทุนสร้างประสิทธิภาพโดยเฉพาะการศึกษา รัฐบาลจึงมีนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานดังนี้

การแก้ปัญหาการว่างงานชั่วคราว ทำได้โดยการให้บริการข่าวสารแก่คนงานและนายจ้างเพื่อให้ทราบแหล่งงานหรือจัดตลาดนัดแรงงานเพื่อให้คนงานและนายจ้างพบกันขึ้นสะดวก

การแก้ไขปัญหาการว่างงานตามฤดูกาล ทำได้โดยการกระตุ้นให้คนงานทำงานอื่นๆ เมื่อพ้นฤดูกาลทำงานประจำ

การแก้ปัญหาการว่างงานเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีถ้าหากมีการนำมาใช้โดยไม่จำเป็น รัฐบาลก็อาจต้องมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นขณะเดียวกัน ต้องมีการศึกษาฝึกหัดอบรมคนงานให้มีความสามารถที่จะโยกย้ายงานได้

นโยบายการเงิน รัฐบาลควรใช้มาตรการทางการเงินเพื่อเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศซึ่งจะมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลง การลงทุนของประเทศสูงขึ้น การผลิต การจ้างงานขยายตัว

นโยบายการคลัง รัฐบาลต้องเพิ่มการใช้จ่ายและลดอัตราภาษีให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการผลิตการส่งออกและการบริโภค ส่งผลให้การจ้างงานสูงขึ้น

นโยบายการศึกษา การวางแผนการศึกษาให้กับประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยศึกษา และต้องกำหนดโครงสร้างการศึกษาให้เหมาะสมกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้การศึกษาที่ตรงความต้องการของตลาด และความจำเป็นของประเทศ

 

ใส่ความเห็น