ระบอบการปกครอง

 

 

1 การปกครองระบอบประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนิยมใช้เป็นหลักในการจัดการปกครองและบริหารประเทศในปัจจุบัน รวมทั้งประเทศไทยของเรา ซึ่งจัดการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมานานกว่า 70 ปีแล้ว การปกครองระบอบประชาธิปไตยเกิดจากความศรัทธาในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเชื่อมั่นว่าคนเราสามารถปกครองตนเองได้ จึงกำหนดให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจในการปกครอง
ความหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
คำว่าประชาธิปไตยมีที่มาจากคำ 2 คำ คือ คำว่า ประชา และคำว่า อธิปไตย
– คำว่า ประชา หมายถึง ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศ
– ส่วนคำว่า อธิปไตย หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ
– ประชาธิปไตย จึงหมายถึง การที่อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า democracy ในภาษาอังกฤษ
แนวคิดพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
การปกครองระบอบประชาธิปไตยมีพื้นฐานมาจากแนวคิดที่เชื่อมั่นว่า คนเราทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี แต่ละคนมีคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าๆกันและสมควรที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความศรัทธาในคุณค่าและความดีงามของมนุษย์ โดยเชื่อมั่นว่ามนุษย์จะใช้กำลังสติปัญยาและทักษะความสามารถอย่างเต็มที่เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามในสังคมร่วมกัน ประชาชนทุกคนในระบอบประชาธิปไตยมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคโดยเท่าเทียมกัน
หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย
1. อำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เป็นของประชาชน โดยมอบหมายให้ตัวแทน คือ ส.ส. เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศแทน(รัฐบาล) เนื่องจากมีประชาชนมากเกินไป
2. รัฐบาลมีอำนาจจำกัด รัฐบาลจะใช้อำนาจอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม โดยยึดเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นหลัก เพื่อปกป้องคุ้มครอง สิทธิ เสรีภาพและประโยชน์ของประชาชน
ในประเทศประชาธิปไตยจึงมีหลักการปกครองที่ทำให้รัฐบาลมีอำนาจจำกัดหลายประการ ที่สำคัญได้แก่หลักการดังต่อไปนี้
2.1 การใช้กฎหมายเป็นหลักในการปกครองประเทศ โดยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด
2.2 การแยกใช้อำนาจ เพื่อไม่ให้อำนาจรัฐตกเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง โดยแยกเป็น ด้านนิติบัญญัติ(รัฐสภา) ด้านบริหาร (รัฐบาล) ด้านตุลาการ (ศาล) ซึ่งผู้เข้ามาทำหน้าที่แต่ละด้านจะมีการตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจไม่ถูกต้อง

2.3 การกระจายอำนาจ โดยกระจายอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นปกครองและบริหารท้องถิ่นของตนเอง เพื่อไม่ให้รัฐบาลมีอำนาจมากเกินไป
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนจึงเป็นผู้กำหนดรัฐบาล และสามารถ
ถอดถอนรัฐบาลได้ด้วย รัฐบาลจึงมีอำนาจจำกัด เช่น บังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ละละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ไม่ได้
รัฐบาลกับประชาชนมีความเกี่ยวพันกันตลอดเวลา ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง
รัฐบาลต้องบริหารประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นหลัก จึงต้องมีความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างใกล้ชิดมีการตรวจสอบปัญหาและความต้องการของประชาชนอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ประชาชนได้รับการบริการขั้นพื้นฐานจากรัฐ รัฐบาลต้องดูแลให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ประชาชนทุกคนได้รับการปฏิบัติที่สมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ได้รับการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคโดยเท่าเทียมกัน

การปกครองระบอบเผด็จการ
ความหมายของการปกครองระบอบเผด็จการ
การปกครองระบอบเผด็จการ หรือ dictatorship เป็นการปกครองโดยรวมอำนาจในการปกครองและบริหารประเทศไว้ที่ผู้นำเพียงคนเดียว หรือรวมไว้ที่คณะบุคคลเพียงคณะเดียว ซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจและดำเนินการบริหารประเทศ การปกครองระบอบเผด็จการให้ความสำคัญของรัฐและประโยชน์ของรัฐมากกว่าประชาชน โดยให้รัฐบาลมีอำนาจอย่างเต็มที่ ดังนั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจึงเป็นเรื่องที่ด้อยความสำคัญลงมา
การปกครองระบอบเผด็จการ อาจจำแนกได้ 2 แบบ คือ
1. แบบเบ็ดเสร็จนิยม รัฐบาลจะใช้อำนาจอย่างเต็มที่ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม คือควบคุมทั้งกิจการของรัฐและการดำเนินชีวิตของประชาชน
2. แบบอำนาจนิยม รัฐบาลจะใช้อำนาจควบคุมการดำเนินการด้านการเมืองการปกครองอย่างเต็มที่ แต่ยอมให้ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพด้านเศรษฐกิจและสังคมในระดับหนึ่งตามที่ รัฐบาลเห็นว่าเหมาะสม เช่น การประกอบอาชีพ การนับถือศาสนา เป็นต้น
แนวความคิดพื้นฐานของการปกครองระบอบเผด็จการ
การปกครองระบอบเผด็จการเน้นความสำคัญของรัฐและเชิดชูอำนาจของผู้นำ รัฐคือสิ่งสำคัญที่สุด เชื่อว่า สังคมจะสงบสุขได้ก็ต่อเมื่อรัฐมีความเข้มแข็ง มั่นคง และรัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาด ดังนั้น คนทุกคนที่เป็นสมาชิกของรัฐต้องเสียสละเพื่อรัฐ ประชาชนจะต้องยอมถูกจำกัดสิทธิ และเสรีภาพเพื่อเพิ่มพูนความแข็งแกร่งของรัฐ และต้องยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ของรัฐ เชื่อว่า มนุษย์เกิดมามีความแตกต่างกัน เริ่มจากการมีชาติกำเนิด เผ่าพันธุ์ และสายเลือดที่แตกต่างกัน มีฐานะทางสังคมที่แตกต่างกัน รวมทั้งมีสติปัญญาและความสามารถไม่เท่ากัน ผู้ที่มีชาติกำเนิดดี มีสติปัญญาและความสามารถเหนือผู้อื่น ควรได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำหรือ ผู้ปกครอง ดังนั้นในประเทศเผด็จการจึงมีการแบ่งผู้คนออกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน คือ
กลุ่มแรก คือ กลุ่มผู้นำซึ่งมีอำนาจในการปกครองและมีอภิสิทธิ์เหนือบุคคลอื่น
อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มประชาชนโดยทั่วไปซึ่งมีหน้าที่เชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำ
หลักการปกครองระบอบเผด็จการ
1. รัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาด รัฐบาลเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ รัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารบ้านเมือง โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ และความต้องการของประชาชน ประชาชนไม่มีโอกาสที่จะคัดค้านรัฐบาล หรือเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง รัฐบาลนิยมใช้กำลังและความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการปกครองและจัดระเบียบรัฐ รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการขยายอำนาจ จึงมักมีการจัดกองกำลังขนาดใหญ่ ทั้งทหารและตำรวจ มีหน่วยงานพิเศษด้านความมั่นคง เช่น หน่วยตำรวจลับ เป็นต้น
2. รวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง เพื่อให้การบริหารประเทศดำเนินไปอย่างมีเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยให้รวมอำนาจไว้ที่รัฐบาลกลาง ผู้นำจะมีอำนาจสั่งการในทุกเรื่อง ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆไม่มีโอกาสได้ปกครองตนเอง หรือบริหารงานส่วนท้องถิ่น เหมือนระบอบประชาธิปไตย
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนในระบอบเผด็จการ
การที่รัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาด ทำให้รัฐบาลใช้อำนาจบังคับประชาชนได้อย่างเต็มที่ ประชาชนจึงมักจะไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีตามที่ควรจะได้รับ ประชาชนถูกจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ไม่มีความเสมอภาค รวมทั้งไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐในเรื่องสิทธิมนุษยชน แม้ว่ารัฐบาลในระบอบเผด็จการจะมีความเป็นปึกแผ่น แต่ประชาชนซึ่งเป็นสมาชิกของรัฐกลับไม่ค่อยมีความมั่นคงในชีวิต
ในประเทศเผด็จการจะมีการแบ่งแยกรัฐบาลและประชาชนออกจากกันอย่างชัดเจน โดยให้รัฐบาลเป็นผู้ปกครอง และ ประชาชนเป็นผู้ถูกปกครอง ประชาชนจึงไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

ข้อดีข้อเสียของการปกครองแต่ละรูปแบบ
ระบอบการปกครองแต่ละรูปแบบย่อมมีส่วนดีและส่วนด้อยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการเช่นความรู้ความเข้าใจและระดับการศึกษาของคนในชาติรวมถึงภาวะเศรษฐกิจและสภาพสังคมวัฒนธรรมตลอดจนปัญหาต่างๆภายในสังคมเช่นความอดอยากความแตกต่างทางเชื้อชาติศาสนาลัทธิความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นมูลเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้มีการจัดระบบการปกครองเป็น 2 ระบบใหญ่ๆคือระบบประชาธิปไตยกับระบบเผด็จการ

ข้อดีข้อเสียของการปกครองแบบประชาธิปไตย

 

ข้อดีของการปกครองแบบประชาธิปไตย

 1.ช่วยให้ประชาชนมีส่วนในการปกครองตนเองได้
2.ช่วยให้รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนสามารถสนองความต้องการของประชาชนส่วนรวมได้
3.ช่วยให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ
4.ช่วยให้บุคคลสามารถสำนึกในผลประโยชน์อันชอบธรรมของตนเองและส่วนรวม
5.ช่วยให้บุคคลเป็นผู้ที่ยึดในหลักการที่ถูกต้องมีระเบียบวินัย
6.ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในจริยธรรมและคุณธรรมที่จะใช้
7.ชีวิตร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมเดียวกันด้วยดี
8.ช่วยให้การปกครองมีเสถียรภาพมั่นคงเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก
9.ช่วยให้ประเทศมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสงบสุข
10.ช่วยพัฒนาประเทศให้เกิดความเจริญก้าวหน้า
11.ประชาชนกินดีอยู่ดี

 ข้อเสียของการปกครองแบบประชาธิปไตย
1.แม้ว่าหลักการดีแต่การบรรลุเป้าหมายนั้นค่อนข้างยากทฤษฏีกับปฏิบัติอาจไม่สอดคล้องกัน
2.รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอาจจะอ่อนแอและไม่มีประสิทธิภาพ
3.พรรคการเมืองที่มีอำนาจและอิทธิพลในการปกครองบางพรรคอาจจะผูกขาดอำนาจหรือทำไปเพื่อประโยชน์ตน
4.อาจจะมีการปลุกระดมชี้นำประชาชนในทางที่มิชอบ
5.เป็นการปกครองที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเช่นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งระดับต่างๆ
6.ผู้แทนราษฏรอาจจะเห็นแก่ประโยชน์ของท้องถิ่นของตนมากกว่าของประเทศโดยส่วนรวม
7.อาจมีการใช้เสียงข้างมากกีดกันการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคล
8.อาจมีการใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยบางประการไปในทางที่มิชอบ
9.อาจจะเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่ภายนอกส่วนภายในเป็นการปกครองโดยคนเพียงบางกลุ่มบางพวก
10.ขาดความเข้าใจในการใช้สิทธิและหน้าที่
11.อำนาจและอิทธิพลของระบบราชการที่มีมากขึ้นอาจจะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ข้อดีของการปกครองแบบเผด็จการ

1.  ช่วยให้การปกครองมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายอย่างรวดเร็ว
2.    สามารถแก้ไขวิก ฤตการณ์หรือภาวะฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว    ยกย่องผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูงเพื่อช่วย
ปรับปรุงประเทศให้ก้าวหน้า
สร้างความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาในด้านต่างๆอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมตัวอย่างเช่น
ประเทศเยอรมันในสมัยรัฐบาลนาซีภายใต้ฮิตเลอร์
ประเทศอิตาลีในสมัยรัฐบาลฟาสซิสม์ภายใต้มุสโสลินี
ประเทศโซเวียตภายใต้การนำพรรคคอมมิวนิสต์
ประเทศจีนภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์

ข้อเสียของการปกครองแบบเผด็จการ
1.จำกัดและขัดขวางสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2.สกัดกั้นมิให้ผู้มีความสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
3.ผู้ปกครองและพรรคพวกอาจใช้อำนาจเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์
4.ก่อให้เกิดการต่อต้านประเทศชาติขาดความสงบสุข
5.ก่อให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากการผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นผู้นำและพวกพ้อง

ใส่ความเห็น