สรุปเนื้อหา

พระธรรม  หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

สังฆคุณ  9

พระสงฆ์ เป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  แล้วสอนให้ผู้อื่นรู้และปฏิบัติตาม

ผู้ที่จะเป็นพระสงฆ์ได้จะต้องผ่านการบวชโดยวิธีหนึ่งใน 3 วิธี ได้แก่

  1. การบวชโดยพระพุทธเจ้าทรงประทานให้ เรียกว่า เอหิกภิกขุอุปสัมปทา
  2. การบวชด้วยการรับไตรสรณคมน์ เรียกว่า ติสรณคมนูปสัมปทา
  3. การบวชที่คณะสงฆ์ยอมรับเข้าหมู่โดยมติเอกฉันท์ เรียกว่า ญัตติตุตถกัมมอุปสัมอุปทา

พระสงฆ์มี 2 ประเภทคือ

  1. สมมุตสงฆ์ คือ พระภิกษุที่บวชในพระพุทธศาสนา ศึกษาเล่าเรียนตามพระวินัย
  2. อริยสงฆ์ คือ พระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจนเป็นพระอริยบุคคลบรรลุตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์

อริยสัจ  4  หมายถึง  หลักความจริงอันประเสริฐ  ความจริงองพระอริยะ ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มี 4 ประการ ซึ่งประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อริยสัจ 4 และนำมาสั่งสอนเพื่อให้ผู้ปฏิบัติหลุดพ้นจากความทุกข์ โดยมีจุดหมายสูงสุด คือ นิพพาน ความจริงขั้นสูงสุดที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ มี 4 ประการคือ                     

ทุกข์  :  ( ธรรมที่ควรรู้ )  หมายถึง สภาพที่ทนอยู่ได้ยากทั้งกายและจิตใจ สิ่งที่ควรกำหนดรู้ตามความเป็นจริง ซึ่งหลักธรรมที่เกี่ยวกับทุกข์นั้นประกอบด้วย

ขันธ์ 5  หรือเบญจขันธ์ เป็นหลักธรรมที่สอนเกี่ยวกับองค์ประกอบของร่างกายมนุษย์  หรือสัตว์ตัวตนของเรา และคนอื่น มีองค์ประกอบ 5 อย่าง ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์

ไตรลักษณ์  หมายถึง  ลักษณะ  3  ประการ  ของชีวิต  ชีวิติทุกชีวิตต้องมีลักษณะทั้ง  3  ประการนี้  เหมือนกันหมด  จึงเรียกลักษณะ  3  ประการนี้ว่า  สามัญลักษณะ  ซึ่งหมายถึง  ลักษณะทั่วๆไปหรือลักษณะที่เสมอกัน  เท่ากัน  หรือเหมือนกันของชีวิต  ได้แก่

  1. อนิจจตา หรือ อนิจจัง  คือ  ความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวง ไม่ว่าร่างกาย จิตใจ วัตถุหรือบุคคลทั่วไปล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
  2. ทุกขตา หรือ  ทุกขัง  คือ  ความเป็นทุกข์ ซึ่งความทุกข์ในไตรลักษณ์ หมายรวมถึง ความทุกข์ทุกรูปแบบทั้งทุกขเวทนาในขันธ์ 5 และทุกข์ในอริยสัจ 4
  3. อนัตตตา หรือ อนัตตา  คือ ความไม่มีตัวตน หมายถึง สิ่งทั้งหลาย ทั้งรูปธรรม และนามธรรม ล้วนไม่มีตัวตน

สมุทัย  :  ( ธรรมที่ควรละ )  หมายถึง สาเหตุแห่งทุกข์เป็นสิ่งที่ควรละ ควรหลีกเลี่ยง หลักธรรมที่สอดคล้องกับสมุทัย คือ

หลักกรรม คือ การกระทำทางกาย วาจา หรือใจที่ประกอบด้วยเจตนา หรือการกระทำที่เป็นไปด้วยความจริง ดังพุทธวจนะตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลจงใจแล้วย่อมกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ”

กรรม มี 2 ประเภท คือ กรรมที่กระทำทางใจ

  1. กุสลกรรม คือ กรรมดี ได้แก่ กรรมที่กระทำ โดยไม่มีความโลภ โกรธ หลง เป็นแรงจูงใจ ไม่โลภ เช่น รักษาศีล การให้ทานเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนอื่นด้วยจิตบริสุทธิ์
  2. อกุศลกรรม คือ กรรมชั่ว ได้แก่ การกระทำที่ประกอบด้วยความโลภ โกรธ หลง (กิเลส) หรือ กลั่นแกล้งคนอื่นด้วยความโกรธแค้น ให้ทานเพื่อหวังได้หน้า

วัฏฏะ  3 

วัฏฏะ  หรือ ไตรวัฏฏ์ แปลว่า วงวน หรือวงจร หมุนเวียนสืบทอดต่อ ๆ กันไป ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิดเป็นวงจรหมุน ไป ได้แก่

  1. กิเลสวัฏฏ์  ประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน คือ  ความโลภ  ความโกรธ  และความหลง
  2. กรรมวัฏฏ์ ประกอบด้วย สังขาร ภพ   คือ  การกกระทำที่มีเจตนามี  2  ประเภท  คือ  อกุศลกรรมหรือกรรมชั่ว  และกุศลกรรมหรือกรรมดี  กรรมทั้ง  2  ประเภทนี้  สามารถแสดงออกได้  3  ทาง  คือ  ทางกาย  เรียกว่า  กายกรรม  ทางวาจา  เรียกว่า  วจีกรรม  และ  ทางใจ  เรียกว่า  มโนกรรม
  3. วิบากวัฏฏ์ ประกอบด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสอุปยาสคือ ผลของการหรือผลของการกระทำ กระทำอย่างใดไว้ก็จะได้รับผลของกรรมนั้น นั่นคือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

ปปัญจธรรม  3  หมายถึง  กิเลสเครื่องเนิ่นช้า  หรือกิเลสที่เป็นตัวการทำให้ห่างออกไปจากความเป็นจริงที่ง่าย  ๆ  เปิดเผย  ก่อให้เกิดปัญหาต่าง  ๆ  และขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริง  หรือทำให้ไม่อาจแก้ปัญหาอย่างถูกทางตรงไปตรงมาได้  มี  3  ประการ  คือ

  1. ตัณหา คือ  ความทะยานอยากได้ ความปรารถนาที่จะบำเรอปรนเปรอตน
  2. มานะ คือ ความถือตัว ความสำคัญตนว่าเป็นนั้นเป็นนี้ ถือสูงถือต่ำยิ่งใหญ่เท่าเทียมหรือด้อยกว่าผู้อื่น ความอยากเด่นอยากยกชูตนเองให้ยิ่งใหญ่
  3. ทิฏฐิ คือ ความคิดเห็น ความเชื่อถือในลัทธิ ทฤษฎี อุดมการณ์ต่าง ๆ ที่ยึดถือไว้โดยงมงาย หรือโดยคิดว่าของตนเท่านั้นถูกของคนอื่นผิด ทำให้ปิดตัวเองแคบ ไม่ยอมฟังใครปิดโอกาสที่จะเสริมสร้างปัญญาได้

นิโรธ   :  ( ธรรมที่ควรบรรลุ ) หมายถึง การดับสนิทของทุกข์ ธรรมที่ควรทำให้รู้แจ้งธรรมที่สอดคล้องกับนิโรธ คือ

อัตถะ 3   หมายถึง สิ่งที่มุ่งหมาย หรือสิ่งที่คาดหวังในประโยชน์ที่จะได้รับ อัตถะตึงเป็นธรรมที่ควรปฏิบัติให้บรรลุ เพราะว่าเป็นผลที่ตนเองและผู้อื่นได้รับประโยชน์ทั้งในปัจจุบันปละในอนาคต

  1. ทิฏฐธัมมิกัตถะ คือ ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ในโลกนี้ หรือ ประโยชน์ขั้นต้น
  2. สัมปรายิกัตถะ คือ ประโยชน์เบื้องหน้า ประโยชน์ภพหน้า หรือประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป
  3. ปรมัตถะ คือ ประโยชน์สูงสุด หรือที่เป็นสาระแท้จริงของชีวิต จุดมุ่งหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน

ประโยชน์ควรปฏิบัติในอัตถะอีกอย่างหนึ่งคือ

– อัตตัตถะ ประโยชน์ของตนเองที่จะได้รับ  –  ปรัตถะ ประโยชน์ของผู้อื่นที่จะได้รับ- อุภยัตถะ ประโยชน์ที่จะได้รับทั้งสองฝ่าย

มรรค  :  ( ธรรมที่ควรเจริญ ) หมายถึง ธรรมที่ควรปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์ หรือแนวทางที่สมควรเจริญให้เกิดขึ้น ซึ่งมีหลักธรรมที่เกี่ยวข้องคือ

มรรคมีองค์ 8  แปลว่า ทางปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีองค์แปดประการอันประเสริฐ ดังนี้

  1. สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ   2. สัมมาสังกัปปะ  คือ  ความคิดชอบ
  2. สัมมาวาจา คือ การพูดชอบ            4. สัมมากัมมันตะ  คือ  การทำงานชอบ
  3. สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ  6. สัมมาวายามะ    คือ  ความเพียรพยายามชอบ
  4. สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ         8. สัมมาสมาธิ    คือ  ความตั้งใจมั่นชอบ

ปัญญา  3   หมายถึง  ความรอบรู้ในเรื่องโลกและชีวิต  รู้ตามสภาพความเป็นจริง  บางครั้งรียกว่า  สติปัญญา  ปัญญาแบ่งตามแหล่งกำเนิดออกได้  3  ประเภท  คือ

  1. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาเกิดจากการฟัง และการเล่าเรียน
  2. จินตามยปัญญา  คือ  ปัญญาที่เกิดจากการคิด การพิจารณาจากเหตุผล
  3. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาเกิดจากการฝึกฝนอบรมแล้วลงมือปฏิบัติ

สัปปุริสธรรม 7  หมายถึง  หลักธรรมสำหรับคนดี  หรือคุณธรรมที่ทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นคนดี  มี  7  ประการ  ได้แก่

  1. ธัมมัญญุตา คือ การรู้จักเหตุ  ได้แก่  รู้จักว่าสิ่งนี้เป็นเหตุของสิ่งนั้น  สิ่งนั้นเป็นเหตุของสิ่งนี้  เช่น  รู้ว่าการไม่ตั้งใจเรียน  ไม่ขยันอ่านหนังสือ จะทำให้สอบไม่ได้  หรือสอบตก เป็นต้น
  2. อัตถัญญุตา คือ การรู้จักผล  ได้แก่  รู้จักว่าผลอันนี้เกิดจากเหตุอันนี้  เช่น  เมื่อสอบได้คะแนนไม่ดีหรือสอบตกก็รู้ว่ามีสาเหตุมาจากการไม่ตั้งใจเรียน  ไม่ขยันอ่านหนังสือ เป็นต้น
  3. อัตตัญญุตา คือ การรู้จักตน  ได้แก่  รู้จักตนเองว่ามีฐานะเป็นอย่างไร  มีความถนัดด้านใด  มีความสามารถแค่ไหน  เป็นต้น  แล้วประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสมกับฐานะของตน
  4. มัตตัญญุตา คือ การรู้จักประมาณ  ได้แก่  รู้จักความพอดีในสิ่งต่าง  ๆ  เช่น  รู้จักใช้จ่ายให้พอดีกับฐานะการเงินของตน  ความต้องการของร่างกาย  เป็นต้น
  5. กาลัญญุตา คือ การรู้จักกาลเวลา  ได้แก่  รู้จักว่าเวลาไหนควรทำหรือควรพูดสิ่งใดจึงจะมีความเหมาะสม  รู้จักแบ่งเวลาให้ถูก  เช่น  ในขณะที่เป็นนักเรียนควรแบ่งเวลา  ให้ถูกว่าจะทำสิ่งใดก่อนหลัง  เป็นต้น
  6. ปุริสัญญุตา คือ การรู้จักชุมชนหรือสังคม  ได้แก่  รู้จักว่าชุมชนหรือสังคมนั้นเป็นอย่างไรจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับชุมชนนั้นโดยไม่เก้อเขิน  เช่น  เมื่อร่วมงานแต่งงาน  จะต้องแต่งกายด้วยชุดใด  พูดอย่างไร  และทำอย่างไร  จึงจะเหมาะสม  เป็นต้น
  7. ปุคคลัญญุตา คือ การรู้จักคน  ได้แก่  รู้จักบุคคลแต่คนว่ามีลักษณะนิสัยอย่างไร  มีความสามารถในด้านใด  ชอบหรือไม่ชอบอะไร  แล้วปฏิบัติต่อบุคคลนั้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

บุญกิริยาวัตถุ  10   หมายถึง  สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญหรือการทำความดี  หรือวิธีการทำความดีในพระพุทะศาสนา  มี  10  วิธี  ได้แก่

  1. ทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน
  2. สีลมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีลและประพฤติดี
  3. ภาวนามัย คือ  บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
  4. อปจายนมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ 
  5. เวยยวัจจมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจการงานต่าง ๆ
  6. ปัตติทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา
  7. ปัตตานุโมทนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
  8. ธัมมัสสวนมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
  9. ธัมมเทสนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
  10. ทิฏฐุชุกรรม คือ การทำความเห็นให้ตรง

อุบาสกธรรม 7  หมายถึง  ธรรมหรือหลักปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความเจริญของอุบาสกหรือผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา  ซึ่งได้แก่ชาวพุทธทั่ว  ๆ  ไป  มี  7   ประการ  ได้แก่

  1. ไม่ขาดการเยี่ยมเยือนพบปะพระภิกษุ
  2. ไม่ละเลยการฟังธรรม
  3. ศึกษาในอธิศีล
  4. มากด้วยความเลื่อมใสในภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เป็นพระเถระ และพระนวกะ
  5. ไม่ฟังธรรมด้วยตั้งใจจะคอยเพ่งโทษติเตียน
  6. ไม่แสวงหาทักขิไณยภายนอกหลักคำสอนนี้
  7. สนับสนุนในการพระศาสนาเป็นเบื้องต้น คือ ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา

มงคล  38 

มงคล  คือ  สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีแต่ความโชคดี  ตามหลักพระพุทธศาสนา  หมายถึง  หลักปฏิบัติที่นำความสุขและความเจริญมาให้แก่ผู้ปฏิบัติ  มี  38  ประการ  ในชั้นนี้กำหนดให้ศึกษาเพียง  4  เรื่อง  คือ

มงคลที่ 8 มีศิลปวิทยา ( สิปฺปญฺจ )

ศิลปะ แปลว่า  การแสดงให้ปรากฏขึ้นอย่างงดงามน่าพึงชม หรือฉลาดทำ หมายถึง คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น นั่นเอง

พหูสูตนั้นเป็นผู้ฉลาดรู้ เรียนรู้ในหลักวิชา รู้ว่าอะไรทำอย่างไร ส่วนศิลปะ เป็นความสามารถในทางปฏิบัติ คือ สามารถนำความรู้นั้นมาใช้ให้บังเกิดผลได้ ดังคำกล่าวที่ว่า“ ศิลปะแม้พียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ ”  หรือ “ ผู้มีศิลปะ แม้เพียงอย่างเดียวก็หาเลี้ยงชีพโดยง่าย ”

มงคลที่ 26 การฟังธรรมตามกาล ( กาเลน ธมฺมสฺสวนํ )

เมื่อมีโอกาสและเวลา ก็ควรต้อง ไปฟังธรรมบ้าง เพื่อรับฟังธรรม และนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตให้ดีขึ้น ท่านว่าเวลาที่ควรฟังธรรมนั้นมี ดังนี้

– วันธรรมสวนะ หรือ วันพระ หรือวันสำคัญทางศาสนา

– เมื่อมีผู้มาแสดงธรรม เช่น การแสดงธรรมตามวิทยุและพระมาแสดงธรรมตามสถานที่ต่าง ๆ

– เมื่อมีโอกาสอันสมควร เช่น วันอาทิตย์เมื่อมีเวลาว่างหรือในงานมงคล งานบวช งานกฐิน งานวัด เป็นต้น

มงคลจากการฟังธรรม คือ ได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง ฟังแล้วเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น ขจัดความสงสัยให้หมดไป เดความเห็นที่ถูกต้อง และทำให้จิตใจผ่องใส

มงคลที่ 29 การได้เห็นสมณะ ( สมณานญฺจ ทสฺสนํ )

สมณะ แปลว่า ผู้สงบ หมายถึง บรรพชิตที่ได้บำเพ็ญสมณธรรม ฝึกฝนตนเองด้วยศีล สมาธิ ปัญญา มาแล้วอย่างเต็มที่ จนกระทั่งมีกาย วาจา ใจ สงบแล้วจากบาป สมณะทุกรูปจึงต้องเป็นบรรพชิต แต่บรรพชิตบางรูปอาจไม่ได้เป็นสมณะก็ได้

ประเภทของการพบเห็นสมณะ

สมณะหรือผู้สงบระงับจากบาปทั้งปวง  มี  2  ประเภท  คือ

สมณบุคคล  คือ  รูปร่างตัวตนที่เป็นสมณะ

สมณธรรม  คือ  คุณงามความดีที่มีอยู่ในตัวสมณะบุคคล

การพบเห็นสมณะ  เราต้องพบเห็นสมณะบุคคลและสมณธรรม  จึงจะได้ชื่อว่า  พบเห็นสมณะโดยสมบูรณ์  การพบเห็นสมณะนั้นมี  2  ประเภท คือ

  1. การพบเห็นด้วยตา คือการพบเห็นสมณะหรือพระภิกษุสงฆ์ โดยการมองเห็นแล้วผ่านไป  เช่น  เห็นพระภิกษุสงฆ์เดินบิณฑบาตในตอนเช้า  เป็นต้น  ไม่ได้ฟังหรือสนทนาธรรมกับท่าน
  2. การพบเห็นด้วยปัญญา คือ การพบเห็นโดยอาศัยปัญญา  ได้พบปะสนทนากับสมณะ  ได้เรียนรู้ศึกษาธรรม  เกิดความสงบและกำจัดกิเลสให้เบาบางลงได้

มงคลจากการพบเห็นสมณะ

การพบเห็นสมณะเป็นมงคล  คือ  เกิดความเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติของท่าน ได้รับรู้ธรรมที่ท่านสอน และเกิดกำลังใจในการนำหลักธรรมไปปฏิบัติ ทำให้เกิดความสุขความเจริญต่อชีวิต

มงคลที่ 30 การสนทนาธรรมตามกาล

  1. ความหมายของการสนทนาธรรมตามกาล คือ การพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องธรรมะระหว่างกัน ตามโอกาสต่าง ๆ เช่นเมื่อเกิดความสงสัย เพื่อให้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งเกิดปัญญา และมีจิตใจเบิกบานแจ่มใส
  2. หลักการสนทนาธรรมตามกาล คือ สนทนาในสิ่งที่ยังไม่รู้ สนทนาในสิ่งที่ยังสงสัยไม่แน่ใจ และสนทนาเพื่อสืบสวนหาความจริงด้วยเหตุผล

มงคลจากการสนทนาธรรม คือ กำจัดข้อสงสัย จิตใจเบิกบาน และได้รับความรู้ทางธรรมกว้างขวางยิ่งขึ้น

 

 

พุทธศาสนสุภาษิต

 

            หมายถึง  คำสุภาษิตทางพระพุทธศาสนา  เป็นคำกล่าวไว้สั้น  ๆ  แต่มีความหมายลึกซึ้ง  มีลักษณะเช่นเดียวกับคำสุภาษิตและคำพังเพยในภาษาไทย  พุทธศาสนสุภาษิตมีแหล่งที่มาแตกต่างกัน  จึงมีจำนวนมาก  สำหรับในชั้นนี้กำหนดให้นักเรียนศึกษาพุทธศาสนาสุภาษิตเพียง  4  ข้อ  ดังนี้

อตฺตา  หเว  ชิตํ  เสยฺโย           ชนะตนนั้นแลดีกว่า

พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับการชนะตนเอง เพราะการชนะผู้อื่นซึ่งเป็นมนุษย์เป็นคู่ปรปักษ์ หรือเป็นคู่แข่งกันนี้ ไม่นำมาซึ่งสันติภาพ เพราะเป็นชัยชนะที่สร้างความเกลียดชัง อาฆาตจองเวรกันมากขึ้น แล้วก็กลับแพ้กลับชนะกันไปมา และรุนแรงยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ดังนั้นการชนะศัตรูหรือชนะผู้อื่น ไม่นำมาซึ่งสันติภาพ การชนะตนเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งสันติภาพ

ประโยชน์ การชนะตนคือชนะใจตัวเอง ทำให้เกิดสันติสุขไม่ก่อศัตรู

ธมฺมจารี  สุขํ  เสติ       ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข

ผู้ประพฤติธรรม  ธรรมย่อมคุ้มครองรักษา ไม่ต้องวิตกกังวลว่าใครจะอิจฉาริษยา หรือหาเรื่องใส่ร้ายโจมตี และไม่หวั่นไหวไปตามโลกธรรม คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาทำร้าย เป็นตัวของตัวเอง มีเหตุผล ผู้ประพฤติตนในธรรมสม่ำเสมอย่อมเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนมนุษย์ มีทั้งเมตตาตามหานิยมและคลาดแคล้วจากอันตรายเพราะเหตุนี้แล ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข เพราะธรรมจะเป็นเครื่องป้องกันบุคคล ไว้ไม่ให้ตกต่ำหรือไม่ตกไปสู่อำนาจแห่งความชั่ว ธรรมที่ได้ศึกษาและปฏิบัติย่อมได้รับผลสูงสุด คือ บรรลุมรรคผลหรือสามารถทำลายอวิชชา ธรรมย่อมปกป้องคุ้มครองผู้ประพฤติธรรมเสมอ ให้มีความสุขเกษมสำราญคลาดแคล้วจากภัยพิบัติโดยประการทั้งปวง

ประโยชน์ การประพฤติธรรมเป็นมหากุศล เป็นผู้ไม่ประมาท เป็นผู้รักษาสัทธรรม เป็นผู้นำพระพุทธศาสนาให้เจริญ

ปมาโท  มจฺจุโน  ปทํ    ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย

ความประมาท  คือ  ความขาดสติ  ความเลินเล่อ  ความมัวเมา  และการดูหมิ่น

ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย  เป็นหนทางแห่งความตาย เป็นพุทธศาสนสุภาษิตที่เป็นสัจธรรม ความไม่ประมาทเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการพลั้งเผลอไร้สติ เช่น เวลาเรียนไม่ตั้งใจเรียนแต่อยากสอบได้ งานกาสรไม่ทำแต่ความดีชอบจะเอา ไม่ทำประโยชน์แก่ใคร แต่อยากให้คนทั้งหลายนิยมชมชอบหรือขับรถเร็วบนท้องถนน เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้ถือว่า ตั้งอยู่บนความประมาททำให้เกิดอุบัติเหตุได้โดยง่ายและบ่อยที่สุด ความประมาทของความระวังทำให้เกิดความสูญเสียอย่างไม่คาดฝันจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ดังนั้นในทางพระพุทธศาสนาจึงมองว่า ความประมาทย่อมเป็นหนทางนำไปสู่ความตาย

ประโยชน์ ความไม่ประมาททำให้เกิดความระมัดระวังตัว ป้องกันภัยที่จะมาถึง

 สุสฺสูสํ  ลภเต  ปญฺญํ  ผู้ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา

ในทางพระพุทธศาสนาได้ยกย่องการฟังไว้เป็นมงคลอย่างหนึ่ง เพราะการฟังเป็นงานที่ลงทุนน้อยที่สุดแต่ได้กำไรมากที่สุด การฟังจะทำให้เราได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟังจากผู้รู้ในเรื่องนั้น แล้วนำมาปฏิบัติหรือมาบอกกล่าว หรือเมื่อฟังบ่อย ๆ แล้วทำให้เข้าใจแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น และเป็นเหตุนำไปสู่การคลายหายสงสัยในสิ่งที่เรายังไม่รู้  ฉะนั้น การฟังด้วยดีย่อมทำให้เป็นผู้มีปัญญา เช่น พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ที่ได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้ตรัสรู้จนเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ประโยชน์ การฟังย่อมทำให้คลายสงสัย เข้าใจในสิ่งที่ฟังให้ถูกต้อง มีประโยชน์จะทำให้จิตใจผ่องใสเบิกบาน เพิ่มพูนความรู้ใหม่ ทบทวนความรู้เดิม ลดความสงสัยเสียได้และการที่เราได้ฟังสิ่งดี

 

 

 

 

 

คำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา

 

ปรัปวาท หรือ ปรับปวาท (อ่านว่า ปะ- รับ-ปะ-วาด) หมายถึง คำกล่าวโทษคัดค้านโต้แย้งของคนพวกอื่น หลักการฝ่ายอื่น ลัทธิภายนอก

อัตตา  (อ่านว่า อัด-ตา) หมายถึง  ตัวตน  อาตมัน  คนทั่วไปที่ยังมีกิเลส  ย่อมยึดขันธ์  5  คือ  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  และวิญญาณ  อย่างใดย่างหนึ่ง  หรือทั้งหมดว่าเป็นตัวตน  อัตตา  ศาสนาพราหมณ์  เรียกว่า  ปรมาตมัน  หรือ  พรหมัน  ถือว่าเป็นสิ่งที่ควบคุมสรรพสิ่งที่อยู่ในโลก  มีตัวตนจริง  แต่พระพุทธศาสนาถือว่า  อัตตาก็ดี  อาตมันก็ดี  ปรมาตมันก็ดี  เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง  ทุกสิ่งเป็นเพียงสมมติ  บัญญัติเรียกกันเพื่อประโยชน์ในการสื่อสารเท่านั้น  เช่น  เมื่อขันธ์  5  มาประกอบรวมกันเข้าก็สมมติเรียกว่า  สัตว์  บุคคล  ตัวตน  เราเขา  แต่แท้จริงแล้วสิ่ง  ๆ  หามีตัวตนที่แท้จริงไม่  ถ้าแยกขันธ์  5  ออกจากกัน  สัตว์  บุคคล  ตัวตน  เราเขา  ที่เรียกกันก็ไม่มี  ความไม่มีตัวตนที่แท้จริงนี่เองเรียกว่า  อนัตตา

อนัตตา   (อะ-นัด-ตา)  หมายถึง  ความไม่มีตัวตน  สิ่งต่าง  ๆ  ที่เราเห็นอยู่ทั่วไปเป็นของมิใช่ตัวตน ได้แก่

– เป็นของสูญ คือ เป็นเพียงการประชุมข้าวขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อย ๆ ทั้งหลายว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือสมมุติเป็นต่าง ๆ

– ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับของใคร ๆ เป็นสภาวธรรมอันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นเหตุปัจจัยไม่มีอยู่โดยลำพังตัว แต่เป็นโดยสัมพันธ์อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่น ๆ โดยสภาวะของมันเองก็แย้งหรือคัดค้านต่อความเป็นอัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา

 

 

พระไตรปิฎก

                                                                                                                                        

พระไตรปิฎก  คือ คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นหลักคำสอนสำคัญในทางพระพุทธศาสนา มี 45 เล่ม แบ่งออกเป็นหมวด ดังนี้

หมวดที่ 1 ตั้งแต่เล่มที่ 1- 8   ว่าด้วย   พระวินัย

หมวดที่ 2 ตั้งแต่เล่มที่ 9- 33 ว่าด้วย   พระสูตร

หมวดที่ 3  ตั้งแต่เล่มที่ 34-45  ว่าด้วย   พระอภิธรรม

โครงสร้างพระไตรปิฎก

พระวินัยปิฎก

– มหาวิภังค์     – ภิกขุนีวิภังค์    – มหาวรรค    – จุลวรรค    – ปริวาร

พระสุตตันตปิฎก

– ทีฆนิกาย   – มัชฌิมนิกาย    – สังยุตตนิกาย   – อังคุตตรนิกาย    – ขุททกนิกาย

พระอภิธรรมปิฎก

– ธัมมสังคณี   – วิภังค์   – ธาตุกถา   – ปุคคลบัญญัติ   – กถาวัตถุ   – ยมก   – ปัฏฐาน

โครงสร้างชื่อคัมภีร์ของพระอภิธรรมปิฎกและสังเขปของพระอภิธรรมปิฎก

พระอภิธรรมปิฎกมีทั้งหมด  12  เล่ม  คือ  ตั้งแต่  เล่มที่  34  –  เล่มที่  45  โดยแบ่งออกเป็น  7  คัมภีร์  ดังนี้

  1. ธัมมสังคณี (เล่มที่ 34) เป็นเรื่องของธรรมะรวมที่จัดหมวดเป็นแบบกลุ่ม
  2. วิภังค์ (เล่มที่ 35)  เป็นข้อธรรมะที่ยกเป็นข้อ ๆ ให้เห็นรายละเอียด
  3. ธาตุกถา (เล่มที่ 36) เป็นธรรมที่จัดระเบียบตามความสัมพันธ์ โดยถือธาตุเป็นหลัก
  4. ปุคคลบัญญัติ (เล่มที่ 36) ว่าด้วยบัญญัติ 6 ชนิด คือ ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ อินทรีย์ บุคคล ซึ่งแสดงรายละเอียดเฉพาะบัญญัติที่เกี่ยวข้อง
  5. กถาวัตถุ (เล่มที่ 37)   ว่าด้วยคำถามหลายคำตอบให้หลักธรรม 500 ข้อ เกี่ยวกับความเห็นในนิกายต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนา 18 นิกาย เพื่อถือเป็นหลักในการตัดสินกรรม
  6. ยมก (เล่มที่ 38-39) ว่าด้วยธรรมะทีวินิจฉัยโดยตอบคำถามที่ตั้งย้อนกันเป็นคู่ ๆ 10 คู่
  7. ปัฏฐาน (เล่มที่ 40-45) ว่าด้วยเรื่องที่สัมพันธ์กัน 24 ประการ

 

เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก คือ เนื้อหาสาระส่วนที่ย่อยแต่ละเรื่องในพระไตรปิฎก ซึ่งชาวพุทธสามารถศึกษาและใช้อ้างอิงที่มาของหลักธรรมได้ เช่น พุทธปณิธาน 4 ในมหาปรินิพพานสูตรมาจาก ฑีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 10 ข้อที่ 95 ในหมวดพระสูตร ในคัมภีร์พระไตรปิฎก

พุทธปณิธาน 4 ในมหาปรินิพพานสูตร

คำว่า “ พุทธปณิธาน ” หมายถึง การตั้งความปรารถนาของพระพุทธเจ้า ครั้งนั้นพญามารได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ เมื่อเข้าไปเฝ้าแล้วกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าจงปรินิพพาน พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอบถึงพุทธปณิธาน 4 ประการ ของพระองค์กับพญามาร และได้รับนิมนต์ของพญามารพร้อมตรัสว่า “อีก 3 เดือน เราตถาคตจะปรินิพพาน” เมื่อพระพุทธเจ้าทรงปลงสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์แล้วได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่หลังจากนั้นอีก 3 เดือน คือ วันเพ็ญ เดือน วิสาขะ พระองค์จึงทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน พุทธปณิธาน ๔ ก็คือ “อิทธิบาท ๔” นั่นเอง
๑. ฉันทะ – ความพอใจรักใคร่ ในสิ่งนั้น ๆ
๒. วิริยะ – ความพากเพียร ในสิ่งนั้น ๆ
๓. จิตตะ – ความเอาใจใส่ ในสิ่งนั้น ๆ
๔. วิมังสา – หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผล ในสิ่งนั้น ๆ
ทั้ง ๔ ประการนี้ บุคคลใดนำไปใช้ ประโยชน์อันสูงสุดย่อมเกิดกับบุคคลนั้นเทียว

 

การบริหารจิตและการเจริญปัญญา

 

การสวดมนต์แปลและแผ่เมตตา

การไหว้พระสวดมนต์ เป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย ชาวพุทธต้องปฏิบัติให้พร้อมทั้งทางกาย วาจา และใจ เพื่อให้เป็นการเสริมสร้างสติปัญญา อบรมจิตให้ประณีตและมีคุณธรรม ทำให้มีความเห็นถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา

ในขณะสวดมนต์ถือเป็นการบริหารจิตและเจริญปัญญาเบื้องต้น ทำให้เกิดสติสัมปชัญญะ การไหว้พระสวดมนต์ โดยมากนิยมทำในตอนเช้าและก่อนนอน หรือทำก่อนที่เราจะฝึกสมาธิ การระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยและแผ่เมตตา ช่วยให้ผู้ฝึกมีจิตสงบและเกิดสมาธิ

การแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศล

การแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศล  เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการบริหารจิตและการเจริญปัญญา  ซึ่ง  ควรทำด้วยความตั้งใจ  ดังนี้

บทแผ่เมตตา

สัพเพ  สัตตา  สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์  เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

อะเวรา  โหนตุ  จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด  อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

อัพยาปัชฌา  โหนตุ  จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด  อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

สุขี  อัตตานัง  ปะริหะรัตุ  จงมาความสุขกายสุขใจ  รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด

บทอุทิศส่วนกุศล (อย่างย่อ)

อิทัง  เม  ญาตีนัง  โหตุ  สุขิตา  โหนตุ  ญาตะโย

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า  ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า  จงมีความสุข

รุ้และเข้าใจวิธีปฏิบัติและประโยชน์ของการบริหารจิตและเจริญปัญญา

มนุษย์มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ ร่างกายและจิตใจ ในส่วนของร่างกาย การรับประทานอาหารที่ถูกหลักอนามัยและการออกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ร่างกายเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนของจิตใจก็เช่นกัน ย่อมต้องมีการดูแลเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่จิตใจ สามารถทำได้โดยการฝึกบริหารจิต

การฝึกสมาธิสมาธิเพื่อบริหารจิต เป็นการให้อาหารใจที่มีประสิทธิภาพ จิตใจที่ได้รับการฝึกการดูแลบำรุงรักษาด้วยสมาธิย่อมเกิดความสะอาดบริสุทธิ์ มีคุณธรรม มีความเข้มแข็ง สงบสุข และผ่อนคลาย

การพัฒนาทางด้านปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การฟัง หรือการศึกษาเล่าเรียนในสิ่งต่าง ๆ ควรคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เป็นหนทางของการนำไปสู่ปัญญาดังกล่าวทางพระพุทธศาสนาว่า “จิตที่มีสมาธิ ย่อมเกื้อกูลแก่การเจริญเติบโตแห่งปัญญาเป็นอย่างดี

ฝึกการบริหารจิตแลเจริญปัญญาตามหลักสติปฏฐานเน้นอานาปานสติ

การบริหารจิตตามหลักของสติปัฏฐาน คือ การปฏิบัติโดยใช้สติเป็นหลักในการพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้ให้เห็นตามความจริงของธรรมชาตินั้น ๆ โดยไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้ายที่ทำให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริง ด้วยการใช้สติพิจารณากาย เวทนา จิต และธรรม รับรู้สภาพความเป็นจริง

การฝึกบริหารจิตนี้จะมุ่งเน้นไปที่หลักของการบริหารจิตตามหลักของ อานาปานสติ ที่แปลว่า การระลึกถึงลมหายใจเข้าออก คือ การฝึกสติกำหนดลมหายใจออกแบบต่าง ๆตลอดจนสติสังเกตเห็นการเกิดดับของลมหายใจ

อานาปานสติ  เป็น  1  ในอนุสติ  10  ประการ  หมายถึง  การตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออกแบบต่าง ๆตลอดจนสติสังเกตเห็นการเกิดดับของลมหายใจ เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากในการฝึกสมาธิ  เพราะปฏิบัติง่าย  ไม่ยุ่งยาก  เนื่องจากทุกคนมีลมหายใจอยู่แล้ว

วิธีการเจริญปัญญา

 การเจริญปัญญา  หมายถึง  การฝึกอบรมหรือพัฒนาปัญญาให้เกิดมีขึ้นในตน  ปัญญา  คือ  ความรอบรู้  ความรู้ความเข้าใจอย่างชัดเจนในเรื่องโลกและชีวิต  มี  3  ประเภท ได้แก่  สุตมยปัญญา  จินตามยปัญญา  และภาวนามยปัญญา

การเจริญปัญญาด้วยวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ

 โยนิโสมนสิการ  หมายถึง  การคิดพิจารณาอย่างละเอียด  รอบคอบ  รอบด้าน  และถูกต้องทำให้เกิดปัญญาแตกฉาน  มี  10  วิธี  เช่น  วิธีคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม  วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์เป็นต้น  สำหรับในชั้นนี้กำหนดให้ศึกษา  2  วิธี  คือ  วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัยและวิธีคิดแบบอริยสัจ

  1. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย เป็นการคิดที่พิจารณาเหตุการณ์ที่เป็นผล ให้รู้จักสภาวะที่เป็นจริง คือ พิจารณาปัญหาและหาหนทางแก้ไขด้วยการค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์ส่งผลสืบต่อกัน ซึ่งอาจเรียกได้ว่ามีวิธีคิดแบบปฏิจจสมุปบาท หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทฤษฎีวงแหวนหรือสัมพันธภาพ คือ คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย
  2. วิธีคิดแบบอริยสัจ 4

การคิดแบบอริยสัจ 4 เป็นการคิดแบบแก้ปัญหา แก้ทุกข์ คือ การพิจารณา ทุกข์ (ปัญหามีอะไรบ้าง) สมุทัย (เหตุอยู่ที่ใด) นิโรธ (แนวทาง / เป้าหมายของการแก้ปัญหาที่ตั้งไว้) มรรค (พิจารณาวิธีการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย) ซึ่งเราสามารถใช้เป็นหลักยึดในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ได้

นำวิธีการบริหารจิตและเจริญปัญญาไปใช้ในชีวิตประจำวัน

การบริหารจิตและเจริญเจริญปัญญา เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน หากนักเรียนหรือผู้ปฏิบัติสามารถฝึกการบริหารจิตจนเป็นสมาธิและอบรมปัญญาได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตด้านต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น ด้านการควบคุมจิต การควบคุมอารมณ์ การศึกษาเล่าเรียน การทำงาน เป็นต้น

ประโยชน์ของการบริหารจิต

  1. ทำให้นอนหลับง่ายและหลับสนิท
  2. มีให้สุขภาพกายดี ร่างกายแข็งแรง และรักษาโรคบางอย่างได้  เช่นโรคกระเพาะอาหาร  โรคความดัน  เป็นต้น
  3. บุคลิกภาพโดยรวมดูดี มีสง่าราศี กระปรี้กระเปร่า  สามารถควบคุมอารมณ์  และประพฤติกรรมในสถานการณ์ต่าง  ๆ  ได้
  4. ทำให้ปัญญา คือ ความรู้ความเข้าใจเกิดขึ้นไก้ง่าย  เพราะมีสมาธิเป็นพื้นฐาน
  5. ทำให้ได้รับประโยชน์ระดับสูงสุด ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด คือบรรลุมรรคผลและปรินิพพาน

ประโยชน์ของการเจริญปัญญา

การเจริญปัญญาให้เกิดมีขึ้นในตน  นอกจากจะทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องโลกและชีวิตมีความเป็นพหูสูต  รู้จักรับผิดชอบ  ชั่วดี  แล้วยังก่อให้เกิดประโยชน์อื่น  ๆ  อีก ดังนี้

  1. ทำให้ชีวิตโดยรวมเป็นระเบียบและดีงาม
  2. ช่วยลดปัญหาสังคม เช่น ปัญหาความขัดแย้ง  ปัญหาการทะเลาะวิวาท  ปัญหาการคดโกง  เป็นต้น
  3. ทำให้สังคมมีความสงบเรียบร้อยและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
  4. ช่วยให้หลุดพ้นจากกิเลส เพราะมีปัญญารู้เท่าทันกิเลสต่าง ๆ  ทำให้กำจัดละวางกิเลสเหล่านั้นเสียได้