๒.๕ อริยสัจ 4 : มรรค : อุบาสกธรรม 7

อุบาสกธรรม 7
pp7

อุบาสกธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญของอุบาสก คือ ถ้าปฏิบัติให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น ถึงขั้นเป็นอุบาสกอุบาสิกา คือผู้ใกล้ชิดพระศาสนาอย่างแท้จริง ควรตั้งตนอยู่ในธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญของอุบาสก มี 7 ประการคือ

1. ไม่ขาดการเยี่ยมเยือนพบปะพระภิกษุ
2. ไม่ละเลยการฟังธรรม
3. ศึกษาในอธิศีล คือฝึกอบรมตนให้ก้าวหน้าในการปฏิบัติรักษาศีลขั้นสูงขึ้นไป
4. พรั่งพร้อมด้วยความเลื่อมใส ในพระภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เป็น เถระ (ภิกษุบวชครบ 10 พรรษาขึ้นไป) ปานกลาง (ภิกษุบวชครบ
5 พรรษาแต่ไม่เต็ม 10 พรรษา) และนวกะ (ภิกษุบวชไม่ครบ 5 พรรษา)
5. ฟังธรรมโดยมิใช่จะตั้งใจคอยจ้องจับผิด หรือหาช่องทางที่จะติเตียน
6. ไม่แสวงหาทักขิไณยนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสดงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา หรือไม่ทำบุญกับบุคคลนอกศาสนา
7. กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นเบื้องต้น คือ ช่วยทำนุบำรุงและช่วยกิจการพระพุทธศาสนา

อริยสัจ 4 : มรรค : มงคล 38 : มีศิลปวิทยา

ศิลปวิทยา

ศิลปะ หมายถึง ความเป็นผู้ฉลาดหรือสามารถในทางหัตถกรรม
ศิลปวิทยา หมายถึง ความรู้ความสามารถจัดแจง หรือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความละเอียดบรรจง งดงามสะดุดตาสะดุดใจเป็นที่ต้องการของคนทั่วไป ศิลปะ จึงหมายถึง การฝีมือ มีฝีมือทางการช่าง การแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาให้ปรากฏได้อย่างงดงามน่าดูน่าชม และทำให้เกิดความซาบซึ้งตรึงใจ สะเทือนใจ ประทับใจ หรือการละเล่นหรือการแสดงต่าง ๆ ที่ผู้เล่นหรือแสดงออกมาได้อย่างอ่อนซ้อยสวยงาม ตลอดจนความเชี่ยวชาญในการงานต่าง ๆ นั่นคือ การฝีมืออย่างยอดเยี่ยมศิลปวิทยามี 2 อย่าง

1. ศิลปวิทยาสำหรับพระภิกษุสงฆ์ เช่น การตัดเย็บจีวร กลยุทธในการแนะนำสั่งสอน เพื่อให้พุทธศาสนิกชนรู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริง
2. ศิลปวิทยาสำหรับคฤหัสถ์ เช่น การวาดภาพ การก่อสร้างอาคารสถานที่ การปกครอง งานช่างต่าง ๆ เป็นต้นศิลปะ เกิดจากการใช้ความนึกคิด ใช้ฝีมือของผู้มีอัธยาศัยที่ละเอียดอ่อน รักความดี รักความสวยงาม เพื่อสร้างความดีงามและความพึงพอใจให้เกิดมีขึ้น ศิลปะมี 3 ลักษณะคือ

1. ศิลปทางกาย คือ เชี่ยวชาญชำนาญทำสิ่งของต่าง ๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม เช่น ช่างเขียนภาพ ช่างปั้น ช่างทอผ้า ช่างก่อสร้าง ช่างออกแบบ เป็นต้น
2. ศิลปทางวาจา คือ มีความเชี่ยวชาญในการพูด ทำให้เกิดความสุขใจเศร้าใจ และสะเทือนใจได้ตามสภาพการณ์ในขณะนั้น ๆ คือ มีวาทะศิลป์ที่ยอดเยี่ยม
3. ศิลปทางใจ คือ ฉลาดในการคิดพิจารณาอย่างมีสติปัญญา สามารถควบคุมความนึกคิดให้ดำเนินไปตามขั้นตอนอย่างถูกต้องและมีประโยชน์
การมีศิลปะ เป็นการบ่งบอกถึงความเป็นคนมีบุญกุศลในตัวเอง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ได้รับเกียรติยศ การยกย่องสรรเสริญ และความสุขความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตัวเอง ทำให้เกิดความประทับใจ พึงพอใจแก่ตัวเองและผู้อื่น การมีศิลปะจึงเป็นสิ่งที่ต้องการ
ของทุกคน เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเมื่อใช้ให้เหมาะสมและใช้อย่างถูกต้องใช้อย่างก่อให้เกิดประโยชน์ ใช้อย่างคนมีสติปัญญาคอยควบคุม ไม่ใช้
ไปตามอารมณ์ที่ชั่วร้าย ซึ่งจะเป็นพิษ เป็นภัย เป็นอันตรายแก่ตัวเองและผู้อื่น ดังนั้น พระบรมศาสดาจึงได้ตรัสว่า ความเป็นผู้มีศิลปะ เป็นมงคลสูงสุด

ใส่ความเห็น