พระพุทธรูปปางต่างๆ

พระพุทธรูปปางลีลา
su-thai4
ลักษณะพระพุทธรูป

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกส้นพระบาทขวาสูงขึ้นจากพื้น ปลายพระบาทยังจรดอยู่กับพื้นอยู่ในท่าจะก้าว เพื่อทรงพระราชดำเนิน พระหัตถ์ขวาห้อยอยู่ในท่าไกว พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์ป้องไปเบื้องหน้า เป็นกิริยาเดิน (บางรูปท่ายกพระหัตถ์ขวาก็มีบางแห่งทำเป็นจีบพระองคุลีก็มี)

ประวัติความเป็นมา

เมื่อคราวเสด็จพระพุทธดำเนินลงจากดาวดึงส์เทวโลกนั้นพระพุทธองค์อยู่ในท่ามกลางเทวดาและพระพรหมห้อมล้อม เป็นอิริยาบถที่งามนัก ถึงกับพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรยังไม่วายชื่นชมว่า“การที่พระพุทธเจ้าทรงพระสิริโสภาคอันงามปานนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่เคยเห็นเลย ไม่เคยได้ยินแม้แต่ถ้อยคำใคร ๆ บอกเล่าพระพุทธองค์มีพระสุระเสียงอันไพเราะอย่างนี้เสด็จจากดุสิตมาสู่แผ่นดิน”พระพุทธเจ้าได้เยื้องย่างลีลาเสด็จลงจากดาวดึงส์ โดยบันไดแก้วมณีมัย ท่ามกลางเทพยาดา เมื่อเสด็จมาถึงเชิงบันไดที่สังกัสสนคร เสด็จก้าวย่างลงจากบันไดแก้วนั้น ทรงเหยียบพื้นดินแห่งเมืองสังกัสสนคร ท่ามกลางมวลประชาชนผู้รอเฝ้ารับเสด็จกันอย่างเนืองแน่นด้วยความปิติยินดี ในการเสด็จกลับของพระองค์พระพุทธจริยาตอนเสด็จลีลาลงจากดาวดึงส์สวรรค์ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า “ปางลีลา”

พระพุทธรูปปางวันอาทิตย์ : ปางถวายเนตร

sunday
ลักษณะพระพุทธรูป

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า ทอดพระเนตรดูต้นศรีมหาโพธิ์พฤกษ์ พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานทับกันอยู่ข้างหน้าระหว่างพระเพลา พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายอยู่ในอาการสังวร

ประวัติความเป็นมา
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็เสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข (ความสุขอันเกิดจากการหลุดพ้น)อยู่ที่ต้นศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา7 วัน แล้วก็เสด็จออกจากร่มพระศรีมหาโพธิ์ ไปประทับยืนกลางแจ้งทางทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ของต้นศรีมหาโพธิ์นั้นทรงทอดพระเนตรต้นศรีมหาโพธิ์โดยไม่กะพริบพระเนตร ด้วยพระอิริยาบถนั้นถึง 7 วัน พระพุทธจริยาที่ทรงเพ่งจ้องพระเนตรดูต้นศรีมหาโพธิ์ โดยไม่กระพริบพระเนตรถึง 7 วันนั้นจึงเป็นเหตุให้มีการสร้างพระพุทธรูป“ปางถวายเนตร” ขึ้น พระพุทธรูปปางนี้นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปเพื่อเป็นที่สักการบูชาประจำวันของคนเกิดวันอาทิตย์

พระพุทธรูปปางวันจันทร์ : ปางห้ามสมุทร : ปางห้ามญาติ

img2

ลักษณะพระพุทธรูป

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาทรงห้ามพระพุทธรูปปางนี้มีประวัติความเป็นมา 2 นัยคือ

ประวัติความเป็นมา (ปางห้ามสมุทร)
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมายังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงเสด็จเข้าไปประทับอาศัยอยู่ในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ ซึ่งเป็นหัวหน้า
ชฎิล 500 และเป็นที่นับถือเลื่อมใสของมหาชนในแคว้นมคธพระองค์ทรงทำปาฏิหาริย์นานัปการ เพื่อคลายพยศของหัวหน้าชฎิล จนเหล่าชฎิลเกิดความเคารพนับถือในอานุภาพของพระองค์ และในที่สุด ทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำซึ่งไหลบ่ามาจากทิศต่าง ๆ ที่ท่วมสำนักของอุรุเวลกัสสปะ มิให้น้ำเข้ามาในที่พระประทับพระองค์เสด็จจงกรมภายในวงล้อมของน้ำที่ท่วมเป็นกำแพงรอบด้านพวกเหล่าชฎิลต่างพายเรือมาดู เห็นเป็นอัศจรรย์นักก็พากันสิ้นพยศ ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา โดยพระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้พระพุทธจริยาที่ทรงแสดงปาฏิหาริย์ห้ามน้ำในครั้งนี้ จึงเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า “ปางห้ามสมุทร”

ประวัติความเป็นมา (ปางห้ามญาติ)
ครั้งหนึ่ง พระญาติฝ่ายพุทธบิดา แห่งพระนครกบิลพัสดุ์ กับพระญาติฝ่ายพระพุทธมารดา แห่งพระนครเทวทหะ ทั้งสองพระนครนี้อยู่ใกล้แม่น้ำโรหิณี ชาวนาของทั้ง 2 พระนครนี้ อาศัยน้ำจากแม่น้ำโรหิณีนี้ทำนาร่วมกันสมัยหนึ่งเมื่อฝนแล้ง น้ำในแม่น้ำโรหิณีก็เหลือน้อย จึงเกิดการวิวาทแย่งชิงน้ำระหว่างนครทั้งสองเกิดขึ้น ไม่สามารถระงับได้ด้วยสันติวิธี จึงคุมเกิดการประหัตประหารกัน ลุกลามจนถึงการยกทัพเจ้าต่อสู้กันพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่อง ก็ทรงพระกรุณาเสด็จไปห้ามสงครามการแย่งน้ำของพระญาติทั้งสอง โดยแสดงโทษแห่งความพินาศย่อยยับของชีวิตมนุษย์โดยเหตุอันไม่บังควรที่ต้องมาล้มตายกันด้วยสาเหตุเพียงการแย่งน้ำเข้านาเพียงเล็กน้อย จนพระญาติทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันเป็นอันดี พระองค์จึงทรงเสด็จกลับ พระพุทธจริยาที่ทรงห้ามพระญาติทั้งสองพระนครไม่ให้ต่อสู้กันนี้ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการสร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “ปางห้ามญาติ” พระพุทธรูปทั้งสองปางนี้ ถือว่าเป็นพระพุทธรูปบูชา สำหรับคนที่เกิดวันจันทร์

พระพุทธรูปปางวันอังคาร : ปางไสยาสน์

tuesday

ลักษณะพระพุทธรูป

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา พระบาทซ้ายทับพระบาทขวาเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบทอดไปตามพระกาย พระกัจฉะ (รักแร้) ทับพระเขนย พระหัตถ์ยกขึ้นประคองพระเศียรให้ตั้งขึ้น เป็นกิริยาไสยาสน์

ประวัติความเป็นมา
สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารในพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นมี อสุรินทราหูอุปราช (ผู้สำเร็จราชการ) ของท้าวเวปจิตติอสูรบดินทร์ ผู้ครองอสูรพิภพได้สดับพระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าจากสำนักเทพยาดาทั้งหลาย ถึงความสมบูรณ์พร้อมของพระองค์ จึงมีความปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระองค์ แต่ก็คิดว่าพระพุทธองค์เป็นมนุษย์ มีพระกายเล็ก คงจะต้องก้มลงมองลำบาก และก็ไม่เคยก้มเศียรให้ใคร จึงไม่ยอมเข้าเฝ้า แต่ครั้นเห็นเหล่าเทพยดาและพรหมทั้งหลายไปเฝ้าพระพุทธองค์คราวละมาก ๆ ก็มีความปรารถนาจะเข้าเฝ้าจึงตัดสินพระทัยเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ายังที่ประทับพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยอนาคตังญาณ (การหยังรู้อนาคต) ว่าอสุรินทราหูจะเข้าเฝ้า และทรงทราบความในใจด้วยก่อนที่อสูรินทราหูจะเข้าเฝ้าพระองค์ก็เสด็จประทับบรรทมบนพระแท่นที่ประทับทรงทำปาฏิหาริย์เนรมิตพระหายให้ใหญ่กว่าอสุรินทราหูหลายเท่า ซึ่งจะปรากฏให้เห็นเฉพาะอสุรินทราหูเห็นเพียงผู้เดียวเท่านั้น เมื่ออสุรินทราหูเข้าเฝ้าเห็นเข้าจึงเป็นที่อัศจรรย์ใจมากพระพุทธองค์ทรงทรมานให้อสุรินทราหูลดทิฏฐิมานะอันกระด้างลงได้ กลับมีใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ขอถึงพระอค์เป็นสรณะพระพุทธจริยาตอนเสด็จบรรทมสีหไสยาสน์นี้ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า “ปางไสยาสน์” ถือเป็นพระบูชาประจำวัน
เกิด สำหรับผู้ที่เกิดวันอังคาร

พระพุทธรูปปางวันพุธ : ปางอุ้มบาตร
wednesday
ลักษณะพระพุทธรูป

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน ส้นพระบาททั้งสองชิดกัน พระหัตถ์ทั้งสองยกประคองบาตรราวสะเอว มีบาตรวางอยู่ที่ฝ่าพระหัตถ์ในท่าประคอง

ประวัติความเป็นมา
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ ทรงแสดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปบนอากาศทรมานพระประยูรญาติให้ถวายบังคมแล้วเสด็จลงมาประทับพระบวรพุทธอาสน์ ยังฝนโบกขพรรษให้ตกลงในท่ามกลางสมาคมพระญาติ แล้วทรงประกาศ มหาเวสสันดรชาดก ยกขึ้นเทศนา เมื่อเทศนาจบ พระเจ้าสุทโธทนะพร้อมด้วยพระญาติ ก็เกิดความปีติเบิกบานแซ่ซ้องสรรเสริญจนลืมอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสวยพระกระยาหารเช้าในวันรุ่งขึ้นในเช้าวันต่อมาพระพุทธองค์จึงทรงพาภิกษุสงฆ์เสด็จพระดำเนินไปตามท้องสนามหลวง ปรากฏแก่ประชาราษฎร จึงต่างก็ได้โอกาสชมพระบารมีและมีความปีติยินดีโดยทั่วหน้ากันพระพุทธจริยาของพระองค์ทรงอุ้มบาตร เสด็จพระพุทธลีลาศโปรดประชาชนชาวกบิลพัสดุ์ในครั้งนี้ จึงเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า “ปางอุ้มบาตร” ขึ้น และนิยมสร้างเป็นพระจำวันเกิด สำหรับคนที่เกิดวันพุธ
พระพุทธรูปปางวันพุธ (กลางคืน) : ปางป่าเลไลย์
wednesday_night
ลักษณะพระพุทธรูป

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งบนก้อนศิลา ห้อยพระบาททั้งสองข้างลง ทอดพระบาทเล็กน้อย พระหัตถ์ซ้าย
คว่ำวางบนพระชานุซ้าย พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุขวา เป็นกิริยาทรงรับ มีช้างหมอบถือหม้อน้ำยื่นถวาย และมีลิงหมอบถือรังผึ้งถวายอยู่
เบื้องหน้า

ประวัติความเป็นมา
สมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์มีพระประสงค์ที่จะหลีกไปอยู่ตามลำพังพระองค์เพื่อหลีกหนีจากพระภิกษุที่เกิดความบาดหมางกัน แตกความสามัคคี ถึงแม้พระองค์จะทรงสั่งสอนก็ตาม จึงเสด็จไปประทับอยู่อย่างสงบภายใต้ร่มไม้ภัทรสาละพฤกษ์ ในราวไพรรักขิตวัน โดยผาสุกวิหารพระพุทธองค์ประทับด้วยความสงบสุข โดยอาศัยช้างปาลิไลยก์บำรุงรักษา ซึ่งช้างเชือกนี้เกิดความเบื่อหน่าย
ความวุ่นวายของบริวารเช่นกัน จึงปลีกตัวออกมา ตามลำพัง ครั้นมาพบพระพุทธองค์ทรงเลื่อมใสจึงถวายตัวอุปัฏฐากคอยหาน้ำและ ภัตตาหารมาถวาย และคอยพิทักษ์ความปลอดภัยของพระองค์ วันหนึ่ง พญาลิงตัวหนึ่ง เที่ยวมาตามยอดไม้ เห็นพญาช้างปรนนิบัติ พระพุทธองค์ด้วยความเคารพก็เกิดอกุศลจิตคิดที่จะเข้าไปปรนนิบัติพระพุทธเจ้าบ้างจึงนำเอารวงผึ้งน้อมเข้าไปถวายพระพุทธเจ้า
ด้วยศรัทธา เมื่อพญาลิงเห็นพระพุทธองค์ทรงเสวยก็เกิดความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งช้างและพญาลิงจึงอุปัฏฐากพระพุทธองค์ร่วมกัน ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์เมื่อเห็นพระพุทธองค์หายไป และถูกชาวเมืองโกสัมพีต่อว่า จึงสำนึกผิดและขอเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อขอ ให้พระพุทธองค์อภัยโทษที่ป่ารักขิตวัน พระพุทธองค์ทรงยกโทษให้ และทรงแสดงถึงโทษของความแตกสามัคคี และอานิสงส์ของความ
สามัคคี แล้วส่งพระภิกษุเหล่านั้นกลับเมืองโกสัมพีพระพุทธจริยาตอนช้างและลิงบำรุงอุปัฏฐากพระพุทธองค์เช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า “ปางป่าเลไลย์” ขึ้น เป็นการสร้างพระพุทธรูปประจำวันเกิด สำหรับผู้ที่เกิดวันพุธตอนกลางคืน

พระพุทธรูปปางวันพฤหัสบดี : ปางสมาธิ
thursday
ลักษณะพระพุทธรูป

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองหงายวางซ้อนกันบนพระเพลา คือ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย

ประวัติความเป็นมา
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงกำจัดพญามารพ่ายแพ้ไปด้วยพระบารมี จึงได้เริ่มบำเพ็ญความเพียรต่อไปและก็ได้บรรลุญาณทั้ง 3 ตามลำดับ คือ
1. ปฐมยาม ทรงบรรลุปุพเพนิวาสาสุสติญาณ คือความหยั่งรู้ในชาติภพก่อน คือ ทรงระลึกชาติได้
2. มัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ หรือ ทิพยจักขุญาณ สามารถเรียนรู้การเกิด การตายและการเวียนว่ายตายเกิด
3. ปัจฉิมญาณ ได้ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ คือ ญาณเป็นเหตุทำให้อาสวกิเลสให้หมดสิ้นไป โดยได้ตรัสรู้อริยสัจคือทุกข์
สมุทัย นิโรธ และมรรคพุทธจริยาที่พระพุทธองค์ทรงนั่งสมาธิจนบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณนี้ จึงเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า “ปางสมาธิ”และสร้างพระพุทธรูปบูชาประจำวันเกิด สำหรับผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี

พระพุทธรูปปางวันศุกร์ : ปางรำพึง
friday
ลักษณะพระพุทธรูป
พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย เป็นกิริยารำพึง

ประวัติความเป็นมา
หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว ประทับอยู่ตามร่มไม่อชปาลนิโครธ (ต้นไทร) ทรงรำพึงถึงธรรมที่พระองค์ตรัสรู้แล้วนั้นว่า เป็นธรรมอันประณีต ละเอียด สุขุมคัมภีรภาพ ยากที่บุคคลจะรู้ได้ ทำให้ท้อแท้พระทัย ถึงกับทรงดำริจะไม่แสดงธรรมแก่มหาชน ขณะนั้นท้าวสหัมบดีพรหม ทราบวาระจิตของพระองค์ จึงพาเทพยดาทั้งหลายมาเฝ้าพระองค์ และกราบทูลอารธนาพระพุทธองค์ ขอให้ทรงแสดงธรรมโปรดประชาชน เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาถี่ถ้วนแล้ว จึงตัดสินพระทัยที่จะสั่งสอนชาวโลก และทรงพิจารณาบุคคลในโลกนี้ เปรียบเสมือนดอกบัว 4 เหล่า ดังนี้

1. อุคฆฏิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เมื่อฟังธรรมแล้วสามารถเข้าใจอย่างรวดเร็ว เปรียบเหมือนดอกบัวที่พ้นน้ำ
2. วิปจิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณา และปฏิบัติตามก็สามารถจะเข้าใจได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่บานเสมอน้ำ พร้อมที่จะบานในวันถัดไป
3. เนยยะ คือ พวกที่มีสติปัญญาน้อย เมื่อฟังแล้วหมั่นศึกษาหาความรู้ด้วยความขยันหมั่นเพียร ก็สามารถรู้และเข้าใจได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะเบ่งบานในวันต่อ ๆ ไป
4. ปทปรมะ คือ พวกสติปัญญาอ่อน แม้ได้ฟังธรรม ก็ไม่อาจเข้าใจความหมายและรู้ได้ เปรียบเหมือนดอกบังที่อยู่กับโคลนตม เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณ หยั่งทราบเวไนยสัตว์ผู้จะได้รับประโยชน์จากพระธรรมเทศนาแล้ว ก็ทรงอธิษฐานพระหฤทัยในอันจะแสดงธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ และตั้งพุทธปณิธานจะใคร่ดำรงพระชนม์อยู่ จนกว่าจะได้ประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลาย ประดิษฐานให้มั่นคงสำเร็จประโยชน์แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าต่อไป่พระพุทธจริยาที่ทรงรำพึงถึงธรรม ที่จะแสดงโปรดพสกนิกรผู้เป็นเวไนยบุคคลนั้น เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า “ปางรำพึง” และเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำวันเกิด สำหรับผู้ที่เกิดวันศุกร์

พระพุทธรูปปางวันเสาร์ : ปางนาคปรก
thursday
ลักษณะพระพุทธรูป

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบ ทรงหงายพระหัตถ์ทั้งสอง แบวางซ้อนกันบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาซ้อนกับ
พระหัตถ์ซ้าย มีพญานาคแผ่พังพานปกคลุมเบื้องพระเศียร

ประวัติความเป็นมา
ครั้นเมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปประทับอยู่ที่ร่มไม้มุจลินท์ (ไม้จิก) ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นศรีมหาโพธิ์ แต่บังเอิญว่ามีฝนตกพรำอยู่ไม่ขาดสายตลอด 7 วัน พญานาคมุจลินท์ ผู้เป็นราชาแห่งนาคได้ออกมาจากนาคพิภพ ทำขนดล้อมพระวรกาย 7 ชั้น แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องพระเศียร ด้วยความประสงค์มิให้ฝนและลมหนาวต้องพระวรกายเมื่อฝนหายขาดแล้ว พญามุจลินท์นาคราชจึงคลายขนดจากที่ล้อมพระองค์ จำแลงเพศมาเป็นมาณพน้อย ยืนถวายนมัสการพระพุทธองค์ในที่เฉพาะพระพักตร์ พระองค์จึงเปล่งวาจาว่า“ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริงอย่างไร ความเป็นคนไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นคนปราศจากกำหนัด คือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขในโลก ความนำออกเสียซึ่งอัสมิมานะ คือ ความถือตัวตนให้หมดได้นี้ เป็นสุขอย่างยิ่ง”พระพุทธจริยาที่เสด็จประทับนั่ง ภายในวงขนดของพญานาคมุจลินท์นาคราชนี้ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า “ปางนาคปรก” และเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำวันเกิด สำหรับผู้ที่เกิดวันเสาร์

ใส่ความเห็น