๒.๖ พุทธศาสนสุภาษิต

wimutti

ธมฺมจารี สุขํ เสติ
ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข

กรมการศาสนา (2534) ได้อธิบายพุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ไว้ ความว่า ผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ย่อมมีใจหนักแน่นมั่นคง เป็น
อิสระจากกิเลส ทำแต่สิ่งที่ควรทำ กล่าวแต่คำที่ควรพูด คิดแต่เรื่องที่ควรคิด เขาจึงอยู่เป็นสุขผู้ประพฤติธรรม ต้องมีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา รวมถึงผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริต เป็นผู้ทำสิ่งเลวร้ายให้กลายเป็นดี เกลียดธรรมที่เป็นไปเพื่อความแตกแยก ยินดีในธรรมที่เป็นไปเพื่อความสามัคคี มีความคงมั่นไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์เช่นเดียวกับภูเขาหินที่ฝังรากลึกลงไปในดินไม่กระเทือนเพราะถูกลมพัดฉะนั้น ดังนั้น ความเป็นอยู่ของผู้ประพฤติธรรมจึงอยู่เป็นสุขผู้ที่ต้องการความสุข อยากอยู่เป็นสุข ไม่เดือดร้อน ก็ต้องเร่งประพฤติธรรม เริ่มตั้งแต่การประพฤติดีปฏิบัติชอบเป็นต้นไป

ปมาโท มจฺจุโน ปทํ
ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย

อุบัติเหตุร้ายแรง เกิดขึ้นเพราะความประมาท การดำเนินชีวิตผิดพลาดก็เกิดเพราะความประมาทความเลินเล่อเผลอสติ ความมัวเมา และการดูหมิ่น ชื่อว่าความประมาท คนเลินเล่อเผลอสติ ขับรถก็ประสบอุบัติเหตุ ขับเรือ ขับเครื่องบินก็ประสบอุบัติเหตุ ในวันหนึ่ง ๆ มีอุบัติเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นเพราะความประมาทของคนเพียงไม่กี่คน เช่น รถไฟชนกัน รถสิบล้อชนรถโดยสาร เครื่องบินชนกันกลางอากาศ นั้นหมายถึงความสูญเสียมหาศาล นอกจากอุบัติเหตุดังกล่าวแล้ว อัคคีภัยเผาผลาญชีวิตและทรัพย์สินซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะความเผลอของเจ้าหน้าที่หรือเจ้าของบ้าน เจ้าของโรงงาน ทำความสูญเสียทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ความมัวเมาในอบายมุข มัวเมาในทรัพย์สมบัติ มัวเมาในวัย และการดูหมิ่นดูแคลนคนอื่น ล้วนแต่เป็นทางพินาศนำความย่อยยับแม้แต่ความตายมาถึงตนทั้งนั้นบุคคลจึงไม่ควรประมาท พึงเอาใจใส่ต่อคำเตือนที่ว่า “ระวัง” ให้ดี แล้วท่านจะปลอดภัย (กรมการศาสนา, 2534)

สุสฺสุสํ ลภเต ปญฺญํ
ผู้ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา

ในการสนทนา หรือในการฟังเรื่องสลักสำคัญ ถ้าตั้งใจฟังจะได้ความรู้ความฉลาดขึ้นการสนทนาของคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป ถ้าคู่สนทนาเป็นผู้อาวุโสมีประสบการณ์มากกว่า มีความรู้หรือคุณวุฒิสูงกว่า คนฉลาดย่อมเลือกที่จะเป็นผู้ฟังมากกว่าเป็นผู้พูด เพราะธรรมดาผู้พูดย่อมนำประสบการณ์ของตนออกมาตีแผ่ถือเป็นผู้ให้ ส่วนผู้ฟังเป็นผู้รับ ยิ่งตั้งใจฟังเท่าไรก็ยิ่งได้ความฉลาดหลักแหลมเพิ่มขึ้นเท่านั้น บางเรื่องหากศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองจะต้องใช้เวลาถึง 3 วัน หรืออ่านหนังสือจนนับด้วยร้อยหน้าพันหน้า แต่พอให้รับการถ่ายทอดจากบุคคลอื่นแต่เพียงเวลาอันสั้น อาจแตกฉานยิ่งกว่าศึกษาด้วยตนเองเป็นเวลานานเสียอีกมีคำที่นักปราชญ์กล่าวไว้ว่า “การเป็นนักฟังที่ดี ดีกว่าเป็นนักพูดที่ดี” (กรมศาสนา, 2534)

ใส่ความเห็น